วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556


บทความทางจิตวิทยา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน วันทนียตระกูล
ครูในฐานะเป็นนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม
          พฤติกรรม หมายถึงการกระทำซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด ความต้องการของจิตใจที่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ซึ่งอาจสังเกตได้โดยทางตรงหรือทางอ้อม  บางลักษณะอาจสังเกตได้โดยไม่ใช้เครื่องมือช่วยเหลือต้องใช้เครื่องมือช่วย  พฤติกรรมในมนุษย์ หมายถึงอาการกระทำหรือกิริยาที่แสดงออกมาทางร่างกายกล้ามเนื้อสมองในทางอารมณ์ ความคิดและความรู้สึก พฤติกรรมเป็นผลจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้า เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นมาเร้าในเวลาใดจะมีการตอบสนองเมื่อนั้น
      ศาสตราจารย์.สุรางค์ โคว้ตระกูล ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะกระบวนการสอนบุคคลจะต้องสอนเพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงได้เน้นว่า คนที่เป็นครูจะต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมและได้กล่าวถึงรายละเอียดดังนี้ ดร
        พื้นฐานความคิด (Basic Assumptions) ในทางวิทยาศาสตร์พฤติกรรมที่ครูควรจะยึดถือเป็นหลักมีดังต่อไปนี้
            - พฤติกรรมของบุคคลแต่ละอย่างจะต้องมีสาเหตุ
            - พฤติกรรมหนึ่งอาจจะมาจากสาเหตุได้หลายอย่าง  ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
            - พฤติกรรมอย่างเดียวกัน อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุต่างชนิดกัน
       การที่จะเข้าใจพฤติกรรมของนักเรียนครูจะต้องพยายามนำหลักการในการศึกษาพฤติกรรมของนักจิตวิทยามาใช้ด้วย
ในการศึกษาพฤติกรรมนั้น  นักจิตวิทยาเชื่อว่าพฤติกรรมของแต่ละบุคคล (B) เป็นผลของความปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมรอบตัวของบุคคล (E) และเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล (P) หรือถ้าเขียนเป็นสมการก็จะเขียนได้ดังนี้ คือ B=E x P
อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมของแต่ละบุคคลจะเปลี่ยนไปถ้าหากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหรือพฤติกรรมของแต่ละบุคคลจะเปลี่ยนไปตามประสบการณ์ที่สะสมถ้าหากครูพยายามนึกอยู่เสมอว่า พฤติกรรมทุกชนิดจะต้องมีสาเหตุ  การพยายามศึกษาหาสาเหตุของพฤติกรรมก็เป็นวิธีช่วยนักเรียนที่มีปัญหาได้เช่นเดียวกัน ถ้าครูพยายามจัดสิ่งแวดล้อมและจัดหาประสบการณ์ที่ดีให้นักเรียน ก็จะเป็นการช่วยให้นักรเรียนมีปฏิสัมพันธ์ในตัวแปรที่ดีต่างๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนได้ สรุปแล้วลำดับขั้นของการศึกษาพฤติกรรมของนักเรียนมีดังต่อไปนี้
1. ครูจะต้องทราบก่อนว่าควรศึกษาพฤติกรรมอะไร และควรจะให้คำจำกัดความของพฤติกรรมนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการศึกษาพฤติกรรม “ก้าวร้าว” ของเด็กชาย กครูจะต้องอธิบายว่าพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กชาย กหมายความว่าอย่างไร
             2.  ควรหาตัวแปรที่เป็นสาเหตุของพฤติกรรมนั้น
             3. ควรหาวิธีการเก็บข้อมูล  เพื่อที่จะทราบว่าตัวแปรแต่ละอย่างมีอิทธิพลต่อพฤติกรรม
นั้น ๆ อย่างไร
ผู้ที่จะเป็นครูไม่ควรคิดว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่จะต้องมีพรสวรรค์ อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีหลักการเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นถ้าครูจะพยายามศึกษาและนำผลของการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนมาใช้ก็สามารถปรับปรุงตนเองให้เป็นครูที่ดีมีประสิทธิภาพได้
ในเรื่องที่เกี่ยวกับการช่วยนักเรียนให้พัฒนาบุคลิกภาพนั้น ครูจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรม และพยายามที่จะใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ช่วยในการตัดสินใจ  คือพยายามฝึกหัดตนเอง  ไม่ควรตัดสินเกี่ยวกับสาเหตุพฤติกรรมอย่างปัจจุบันทันด่วน  หรือไม่ควรอธิบายลักษณะของนักเรียนว่า เกียจคร้าน  เห็นแก่ตัว แต่ควรศึกษาต่อไปว่า  เหตุใดนักเรียนจึงไม่ทำงาน หรือเหตุใดนักเรียนจึงไม่เอื้อเฟื้อคนอื่น ก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับพฤติกรรมนักเรียน  ครูควรพยายามหาสาเหตุโดยตั้งเป็นสมมติฐานหลายๆ อย่างแล้วหาข้อมูลมาพิสูจน์  ตัวอย่างเช่น เด็กชาย ก.อายุ 11 ปี มีฐานะดีแต่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการขโมยเงินจากทางบ้านอยู่เสมอ  วันหนึ่งผู้ปกครองแจ้งกับครูประจำชั้นว่า เด็กชาย กขโมยเงินทางบ้านเป็นจำนวลหลายร้อยบาท ในกรณีเช่นนี้ครูควรศึกษาว่าเหตุใดเด็กชาย กจึงขโมยเงินและพยายามหาข้อมูลมาพิสูจน์

        ตัวอย่างการตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของการขโมยของเด็กชาย กอาจจะมีดังต่อไปนี้
        1.  เด็กชาย กขโมยเงินเพราะต้องการซื้อของใช้ส่วนตัวที่จำเป็น เช่น เสื้อผ้า ของใช้
        2.  เด็กชาย กเอาเงินไปเพราะต้องการใช้เงินไปเที่ยวหลังจากเลิกเรียนแล้ว
        3.  เด็กชาย กขโมยเงินเพราะโกรธทางบ้าน เลยขโมยเพื่อจะให้พ่อแม่กลุ้มใจ
        4.  เด็กชาย กขโมยเงินเพื่อซื้อของแจกเพื่อน เพื่อให้เพื่อนชอบตน
                                            ฯลฯ
          วิธีการที่ครูหาข้อมูลก็มีหลายวิธี แต่ควรเลือกวิธีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของเด็กชาย กเท่านั้นในขั้นแรกของครูควรจะสัมภาษณ์ผู้ปกครอง และสังเกตจากพฤติกรรมของนักเรียนในขณะที่อยู่โรงเรียน เป็นต้นว่า เด็กชาย กมีของใช้ครบหรือไม่ตอนนี้  หรือแต่งตัวอย่างไร  ใครเป็นผู้ซื้อของหรือเครื่องแต่งตัวให้เด็กชาย  หากถามผู้ปกครองว่าใครเป็นผู้ซื้อของให้เด็กชาย กถ้าผู้ปกครองบอกว่าเป็นคนซื้อของให้ ไม่เคยให้เด็กชาย กเดือดร้อนเลย ถ้าอยากได้เสื้อผ้าก็ซื้อให้เสมอโดยไม่จำกัดนอกจากนั้นเด็กชาย กได้เงิน  ค่าใช้จ่ายประจำวัน ค่ารถก็ไม่ต้องเสีย  อาหารเช้าก็รับประทานจากบ้าน และเก็บเข้าออมสินเวลาเงินเหลือ  ถ้าครูทราบเช่นนี้ก็อาจจะคิดว่าสมมติฐานข้อ 1 คงจะไม่สามารถเป็นสาเหตุพฤติกรรมขโมยของเด็กชาย ก.ได้
          สำหรับสมมติฐานข้อ 2 เด็กชาย กเอาเงินไปเที่ยวหลังจากเลิกเรียนแล้วนั้น ก็อาจจะหาข้อมูลว่าเด็กชาย กกลับบ้านอย่างไร ถึงบ้านกี่โมง ถ้าความจริงมีอยู่ว่า เด็กชาย กถึงบ้านประมาณ 16.00-17.00 เพราะมีรถมารับที่โรงเรียนทุกวัน หลังจากนั้นก็ตรงไปบ้าน สมมติฐานข้อ 2 ก็ใช้ไม่ได้
          สำหรับสมมติฐานข้อ 3 นั้น อาจจะหาข้อมูลจาก เด็กชาย กเอง โดยสัมภาษณ์ถึงความสัมพันธ์ของเด็กชาย กกับ พ่อ แม่ พี่ น้อง ว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร และถามผู้ปกครองด้วยว่า เป็นอย่างไร  ถ้าหากว่าความสัมพันธ์ดี ทุกคนมีความรักใคร่ปรองดองดี เพราะเด็กชาย กเป็นลูกชายคนเดียว สมมติฐานข้อ 3 ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้
          ส่วนสมมติฐานข้อ 4 นั้น ครูอาจจะหาข้อมูลโดยการสังเกตพฤติกรรมของเด็กชาย กในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การปฏิสัมพันธ์ของเด็กชาย ก.และเพื่อนๆ นอกจากนี้อาจจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า สังคมมิติ (Sociometric Techniques) เพื่อช่วยให้ได้ข้อมูลก็ได้ ในกรณีของเด็กชาย ก.ครูใช้เทคนิคสังคมมิติหาความสัมพันธ์ของเด็กชาย กและเพื่อนๆ โดยสร้างสถานการณ์  การนั่งรถไปแข่งขันฟุตบอลนอกสถานที่ที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น  โดยให้นักเรียนบอกชื่อเพื่อน 3 คน ที่ตนอยากนั่งใกล้ตามลำดับความชอบจากที่ 1 ถึง 3จากการสร้างสังคมสัมพันธ์  (Sociogram)  จากข้อมูลที่ได้ปรากฏว่าเด็กชาย กไม่มีใครเลือกเลย นอกจากนี้ครูเคยจำได้ว่า เด็กชาย กเคยเอาของแพงๆ มาฝากเพื่อนและเมื่อครูถามว่าเอามาจากไหน คำตอบของเด็กชาย กก็คือว่า คุณพ่อ คุณแม่ซื้อมาจากฮ่องกงและอยากให้เพื่อนรัก  จึงขโมยเงินทางบ้านมาซื้อของให้เพื่อน  เพื่อจะให้เพื่อนรักตน
          ครูจะช่วยเด็กชาย กได้อย่างไร
          1. ครูควรพยายามสังเกตศึกษาพฤติกรรมของเด็กชาย กต่อไปว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ทำให้เพื่อนรังเกียจที่จะเป็นเพื่อนด้วย และพยายามที่จะช่วยเด็กชาย กให้เปลี่ยนพฤติกรรม
          2. ครูควรใช้มูลจากสังคมมิติให้เป็นประโยชน์ โดยดูว่าเด็กชาย กมีความรักและรู้สึกสนิทสนม อยากเป็นเพื่อนกับใครเป็นพิเศษ  เมื่อทราบแล้วครูควรจะพยายามพูดกับนักเรียน 3 คน ที่เด็กชาย กเลือก โดยขอความร่วมมือให้ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กชาย กที่เพื่อนไม่ชอบและพยายามที่จะให้เด็กชาย กร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้วย
          3. ครูควรอธิบายให้ทางบ้านทราบถึงสาเหตุที่เด็กชาย กขโมยเงิน และขอความร่วมมือจากทางบ้านให้ช่วยเด็กชาย กปรับปรุงตัวเองเพื่อจะให้มีเพื่อน
          ในการศึกษาและสังเกตของครู พบว่าลักษณะนิสัยของเด็กชาย กที่เพื่อนไม่ชอบคือ
             1) โมโหง่าย
             2) ค่อนข้างจะคิดถึงตนเองมากกว่าคนอื่น ซึ่งเพื่อนคิดว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว นิสัยเช่นนี้เพื่อนที่เด็กชาย กรัก รวมทั้งผู้ปกครองควรต้องช่วยชี้แจงให้เด็กชาย กทราบว่าเด็กชาย กควรจะปรับปรุงอย่างไร พยายามช่วยเด็กชาย กให้เห็นว่า ถ้าเด็กชาย  ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อนก็จะยังคงไม่ชอบสิ่งของและเงินซื้อความเป็นเพื่อนไม่ได้
           เรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นเรื่องจริง และจบด้วยดีคือ เด็กชาย กเปลี่ยนพฤติกรรมได้กลายเป็นคนมีเพื่อนฝูงมากในห้อง เพราะเด็กชาย ก.เป็นนักกีฬาเล่นฟุตบอลเก่งด้วย
มีนักเรียนอีกคนหนึ่งเป็นเด็กชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับเด็กชาย กเด็กคนนี้ขโมยเงินเพราะอยากให้ครูโกรธ ที่จริงขโมยแล้วก็ไม่ได้ใช้ แลหลังจากถามทางบ้านก็ปรากฏว่า เคยขโมยสร้อยข้อมือของคุณแม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน คืออยากให้แม่โกรธ เพราะนักเรียนผู้นี้รู้สึกว่าทั้งแม่และครูคอยจู้จี้เจ้าระเบียบและเคร่งครัดอยู่ตลอดเวลา
สรุปได้ว่า พฤติกรรมขโมยของนักเรียนมีสาเหตุแตกต่างกัน
  ไม่ควรจะตัดสินใจอย่างรีบด่วนหรือยึดความคิดเห็นของตน โดยไม่หาสาเหตุก่อน ตัวอย่างเช่น ถ้าครูสังเกตว่า เด็กชาย ข. ไม่เคยยกมือตอบหรือถามคำถามเลยและสรุปว่าเป็นเพราะเด็กชาย ข. ขี้อาย ก็จะไม่มีประโยชน์ และจะไม่สามารถช่วยเด็กชาย ข. ให้ร่วมกิจกรรมในห้องเรียนได้ ดังนั้น ครูควรจะศึกษาว่าเหตุใด เด็กชาย ข. จึงไม่เคยยกมือตอบหรือถามคำถามในชั้นเลย การศึกษาก็อาจจะเริ่มต้นด้วยสมมติฐานสาเหตุของพฤติกรรมการเรียน  เพราะถ้าจะแก้ไขพฤติกรรมจะต้องทราบสาเหตุของพฤติกรรมนั้น ถ้าจะช่วยเด็กชาย ข. ควรจะเน้นในปัญหาที่ว่าเด็กชาย ข. ไม่เคยยกมือตอบคำถาม และร่วมกิจกรรมในห้องเรียน ผลจากการศึกษาอาจจะเป็นเพราะเด็กชาย ข. เคยถูกครูดุเวลาตอบคำถามไม่ถูกในปีที่แล้วๆ มาครูก็อาจจะแก้ให้โดยบอกกับเด็กชาย ข. เป็นส่วนตัวว่า ขอให้ยกมือตอบคำถามของครูถ้าทราบ ถ้าตอบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร และครูควรจะเริ่มป้อนคำถามเด็กชาย ข. โดยใช้คำถามง่ายๆ และชมเด็กชาย ข. เวลาตอบถูก จะเป็นการให้กำลังใจแก่เด็กชาย ข. และเป็นข้อจูงใจให้ยกมือตอบหรือถามคำถามต่อไป
            จากตัวอย่างข้างบนนี้ ผู้ที่เป็นครูควรพยายามเป็นนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม คือ พยายามหาข้อมูลมาช่วยในการตัดสินใจ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น